เพชรบูรณ์ – สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 พิษณุโลก ลงพื้นที่ภูทับเบิก อ.หล่มเก่า แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อตรวจติดตาม ประเมินและสำรวจติดตามมาตรการป้องกันควบคุมความปลอดภัยการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นชนิดก๊าซหุงต้ม
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 พิษณุโลก พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ สาธารณสุขอำเภอหล่มเก่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอหล่มเก่า และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.หล่มเก่า นำโดย นายแพทย์ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 พิษณุโลก ดร.แพทย์หญิงฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม และนางดุษฎี พงษ์พิทักษ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ ลงพื้นที่ภูทับเบิก อ.หล่มเก่า แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อตรวจติดตาม ประเมินและสำรวจติดตามมาตรการป้องกันควบคุมความปลอดภัยการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นชนิดก๊าซหุงต้ม ตามนโยบายของนายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ หลังเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม และ วันที่ 23 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีผู้เข้าไปอาบน้ำในห้องน้ำที่ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นชนิดก๊าซหุงต้ม ในรีสอร์ท 2 แห่ง แล้วเกิดอาการวูบหมดสติ จำนวนรวม 3 ราย จนนายวินัย ทองชุบ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 พิษณุโลก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาตรวจสอบพบว่า สาเหตุที่ผู้ประสบเหตุทั้ง 3 รายหมดสติเกิดจาก รีสอร์ทแรกห้องน้ำคับแคบและไม่ได้เปิดพัดลมระบายอากาศ ส่วนรีสอร์ทที่สองห้องน้ำไม่ได้ติดพัดลมระบายอากาศ ทำให้ก๊าซโพเพนที่เป็นส่วนประกอบของก๊าซหุงต้มที่นำมาใช้ในเครื่องทำน้ำอุ่น มีปริมาณมากขึ้นก็จะเข้าไปทดแทนก๊าซออกซิเจน จนทำให้ผู้ที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวขาดออกซิเจน และหมดสติในที่สุด
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 พิษณุโลก จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการรีสอร์ทต่างๆ บนภูทับเบิก ซึ่งมีจำนวนกว่า 70 ราย มาประชุมชี้แจงรับฟังและให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นชนิดแก๊ส ที่ห้องประชุมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทับเบิก ซึ่งมีผู้ประกอบการรีสอร์ท ให้ความสนใจมารับฟังกันเป็นจำนวนมาก โดยมีนายวินัย ทองชุบ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 จ.พิษณุโลก นำเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส มาสาธิตถึงหลักการทำงาน พร้อมขอให้ผู้ประกอบการรีสอร์ททุกราย ทำการติดตั้งพัดลมระบายอากาศขนาดมาตราฐาน ขั้นต่ำ 8 นิ้ว และให้ใช้สวิสไฟอันเดียวกันกับหลอดไฟฟ้าส่องสว่างในห้องน้ำ รวมทั้งไม่ควรใช้ห้องน้ำที่มีความคับแคบเกินไป โดยมีมาตรการจำนวน 7 ข้อ ให้ผู้ประกอบการรีสอร์ทปฎิบัติ ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ให้ติดพัดลมระบายอากาศในห้องน้ำโดยใช้สวิทซ์เชื่อมพ่วงต่อกับสวิทช์ไฟแสงสว่างทุกห้อง พร้อมติดป้ายเตือนวิธีใช้และข้อปฏิบัติ 3 ภาษา (ไทย อังกฤษ จืน) ที่บริเวณประตูห้องน้ำ และติดตั้งออกซิเจนกระป๋องพร้อมหน้ากากภายในห้องพักทุกห้อง เพื่อใช้กรณีฉุกเฉิน
นายแพทย์ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 พิษณุโลก กล่าวว่า เชื่อว่าภูทับเบิกโมเดลของหล่มเก่า น่าจะเป็นตัวอย่างงที่ดีกับภาคอื่นๆ ทั่วประเทศไทยเพราะว่าสามารถที่จะป้องกันควบคุมโรคหรือภัยพิบัติได้ ในวันนี้จากที่ได้ตรวจสอบรีสอร์ทต่างๆพบว่า ในส่วนที่ปรับปรุงได้100 เปอร์เซนต์ก็มี แต่ส่วนมากจะอยู่ที่ประมาณ 70 – 80 เปอร์เซนต์อืก 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ในภาพรวม ต้องปรับปรุงบ้างในเรื่องของข้อมูลข่าวสารที่จะต้องติดประกาศที่หน้ารีสอร์ทหรือหน้าห้องน้ำเพิ่มเติม
ดร.แพทย์หญิงฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเครี่องทำน้ำอุ่น ทางควบคุมโรคถือว่าเป็นประเด็นการเสียชีวิตที่ไม่อันควร และก็เป็นสิ่งที่น่าจะป้องกันได้ ในมุมมองของกรมป้องกันควบคุมโรคส่วนกลางเรามีหน้าที่ทำงานประสานกับพื้นที่ ขณะที่เพชรบูรณ์ก็มีมาตรการที่เข้มแข็งมาก และทางสำนักงานเขตก็ได้มีมาตรการที่เข้มแข็ง ส่วนกลางก็ต้องรับลูกต่อไปในการขับเคลื่อนเรื่องของนโยบาย เราก็ได้ระบุผู้ที่มีส่วนได้เสียสำคัญที่จะต้องขับเคลื่อนนโยบายนี้ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน