วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

แล้งจัดงัดทุกวิธีเพื่อขอฝน สวดคาถาปลาช่อน แห่นางแมว ปั้นหุ่นชายหญิงร่วมเพศกัน

เพชรบูรณ์ – ชาวบ้านที่อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ปั้นหุ่นชายหญิงร่วมเพศกันไว้ที่ปากทางเข้าหมู่บ้าน เพื่อให้เป็นภาพอุจาดประจานต่อสายตาผู้คนที่ผ่านไปมา จนทำให้เกิดอาเพศ เทวดาจะได้ดลบันดาลให้ฝนตกลงมาชะล้างหุ่นดินเหนี่ยวให้ละลายหายไป ซึ่งเป็นกุศโลบายพิธีขอฝนที่บรรพบุรุษทำสืบทอดกันมากว่า 100 ปี หลังทำพิธีสวดคาถาปลาช่อนและแห่นางแมวมาแล้ว 3 วัน ฝนยังไม่ตก ทำให้หลายหมู่บ้านเดือดร้อนหนักเนื่องจากประสบภัยแล้ง

วันที่ 17 กันยายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านบ้านนาตะกรุด ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้นำดินเหนี่ยวจากท้ายนา มาปั้นเป็นรูปผู้ชาย 2 คน และผู้หญิง 1 คน กำลังร่วมเพศกัน ที่บริเวณลานตรงข้าม ปากทางเข้าหมู่บ้านหมู่ที่ 15 บ้านนาตะกรุด ซึ่งเป็นพิธีขอฝนที่บรรพบุรุษของชาวบ้านบ้านนาตะกรุด ทำสืบทอดกันมากว่า 100 ปี หลังหมู่บ้านดังกล่าว รวมทั้งอีก 15 หมู่บ้านในตำบลศรีเทพ กำลังประสบภัยแล้งอย่างหนัก หนักสุดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากได้เกิดฝนทิ้งช่วงมาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน จนทำให้พืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะนาข้าวกว่า 2 หมื่นไร่ กำลังเริ่มจะแห้งเหี่ยวเฉาตายเกือบทั้งหมด โดยก่อนที่ชาวบ้านจะทำการปั้นหุ่นชายหญิงร่วมเพศกัน 3 วัน ชาวบ้านจะนิมนต์พระสงฆ์จำนวน 9 รูป มาประกอบพิธีสวดคาถาปลาช่อน และถ้ายังไม่มีฝนตกลงมา ชาวบ้านจึงจะร่วมกันทำพิธีปั้นหุ่นชายหญิง 3 คน ร่วมเพศกัน โดยหุ่นผู้ชายชื่อนายเมฆ หุ่นผู้หญิงชื่อนางฝน และหุ่นผู้ชายที่นั่งดู หรือนั่งรอต่อคิว ชื่อนายหมอก และหลังจากชาวบ้านปั้นหุ่นเสร็จ ก็จะทำพิธีแห่นางแมวขอฝน ไปตามถนนสายต่างๆ ภายในหมู่บ้าน เป็นระยะเวลา 3 วัน หรือจนกว่าฝนจะตก

สำหรับการปั้นหุ่นชายหญิงร่วมเพศกัน ไว้ที่ปากทางเข้าหมู่บ้านดังกล่าว ก็เพื่อเป็นการทำภาพให้อุจาดประจานต่อสายตาผู้คนที่ผ่านไปมา จนทำให้เกิดอาเพศ และเทวดาทนดูไม่ได้ จึงดลบันดาลให้ฝนตกลงมาชะล้างหุ่นดินเหนี่ยวดังกล่าวให้ละลายหายไป ซึ่งเป็นความเชื่อ หรือ กุศโลบาย ที่บรรพบุรุษชาวบ้านนาตะกรุดทำสืบทอดกันมากว่า 100 ปี

นายเสมอ โตมะนิตย์ อายุ 80 ปี ปราชญ์ชาวบ้าน ที่เป็นผู้นำชาวบ้านทำพิธีดังกล่าว เล่าว่า ก่อนหน้านี้ประมาณ 3 วัน ชาวบ้านได้ร่วมกันนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีสวดคาถาปลาช่อนเพื่อขอฝนแต่ปรากฏว่า ฝนไม่ตก จึงได้ทำการปั้นหุ่นชายหญิงร่วมเพศกัน หรือไอ้เมฆ ไอ้หมอก อีฝน ซึ่งเป็นความเชื่อตามประเพณีว่า ทำแล้วจะดลบันดาลให้ฝนตก หลังจากปั้นหุ่นแล้วก็จะทำพิธีแห่นางแมวเป็นเวลา 3 วัน โดยเริ่มต้นจากบริเวณที่ตั้งของรูปปั้น และแห่เข้าไปในหมู่บ้านตามความเชื่อโบราณ วันนี้เป็นวันครบกำหนดวันที่สาม ตนเองก็หวังว่าจะมีฝนตกลงมา ชาวบ้านจะได้รอดพ้นจากความเดือดร้อนจากภัยแล้ง ในส่วนหนึ่งก็เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมความเชื่อที่มีต่อกันมาหลาย100 ปีไม่ให้สูญหายไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เพชรบูรณ์ – พายุฤดูร้อน ถล่ม ตำบลลาดแค ได้รับความเสียหาย12 หมู่บ้าน 90 หลังคาเรือน
เตรียมความพร้อมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2566
เพชรบูรณ์  สมศักดิ์ นำทีมเพื่อไทย ปราศรัยหาเสียง ย้ำ “คิดใหญ่ ทำเป็น” เน้นแก้ปัญหายาเสพติด
เพชรบูรณ์ – อำเภอหนองไผ่ จัดงาน “วันมะม่วงและของดีอำเภอหนองไผ่ ประจำปี 2566”
เพชรบูรณ์ – พิธีเซ่นไหว้บรรพชน เทศกาลเช็งเม้งรวม ของสุสาน พฤกษาราชคีรี อำเภอหนองไผ่   
เพชรบูรณ์ – เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.หล่มสัก สาธิตการใช้เหล็กไม้ง่ามเพื่อควบคุมบุคคลจิตเวช ให้กับผู้นำชุมชน