คณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 6 ผอ. สำนักงาน ปปช. ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ และชมรม Strong-จิตพอเพียง ต้านทุจริต จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ลงพื้นที่ อำเภอศรีเทพ ตรวจสอบการก่อสร้างจุดกลับรถใต้สะพาน บนทางหลวงหมายเลข 21 (สระบุรี-หล่มสัก) บริเวณด้านหน้า สำนักงานเทศตำบลสว่างวัฒนา
วันที่ 22 มีนาคม 2566 เวลา 10.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิวัฒน์ เจริญฉ่ำ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 6 นางสาวนุชจรินทร์ อินประถม ผอ. สำนักงาน ปปช. ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ และชมรม Strong-จิตพอเพียง ต้านทุจริต จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ลงพื้นที่ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อดำเนินการตรวจสอบการก่อสร้างจุดกลับรถใต้สะพาน บนทางหลวงหมายเลข 21 (สระบุรี-หล่มสัก) บริเวณด้านหน้า สำนักงานเทศตำบลสว่างวัฒนา และได้พบกับ นายชาญวิทย์ จันทร์ทับ ผู้อำนวยการแขวงการทางเพชรบูรณ์ที่ 2 (บึงสามพัน) นายวีระวัฒน์ วัฒนวงศ์พฤกษ์ นายอำเภอศรีเทพ และ นายโกวิท โลเกศเสถียร นายกเทศมนตรีตำบลสว่างวัฒนา โดยทั้งหมดได้ร่วมประชุมเพื่อรับทราบข้อมูลในเบื้องต้น ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลสว่างวัฒนา ก่อนลงตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้าง
เบื้องต้นทราบว่า โครงการดังกล่าวก่อสร้างในปีงบประมาณ 2564 แล้วเสร็จมาประมาณปีกว่าๆ เกือบ 2 ปี แต่ยังไม่สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อทั่วไป ส่วนสาเหตุที่ไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากมีน้ำท่วมขังในเส้นทางจาราจร ที่จุดกลับรถใต้สะพานตลอดทั้งปี ทางราชการเกรงว่าจะเป็นอันตรายกับผู้ใช้เส้นทางสัญจรจึงได้ทำการปิดกั้นเส้นทางเอาไว้ ห้ามประชาชนใช้เส้นทางโดยเด็ดขาด
นอกจากนั้น ข้อเท็จจริงที่ปรากฏ จากการให้ข้อมูล ของ แขวงทางหลวงเพชรบูรณ์ที่ 2 (บึงสามพัน) โดย ผู้อำนวยการแขวงทางหลวง และเทศบาลตำบลสว่างวัฒนา โดย นายโกวิท โลเกศเสถียร นายกเทศมนตรี ยังพบอีกว่า การก่อสร้างในจุดดังกล่าวได้มีการรุกล้ำไปในที่ของเอกชน ซึ่งแขวงทางหลวงเพชรบูรณ์ที่ 2 เข้าใจว่าเป็นลำรางน้ำสาธารณะ แต่ความจริงเป็นเพียงพื้นที่ลุ่มต่ำที่เอกชนไม่ได้ใช้ประโยชน์และยินยอมให้น้ำไหลผ่านเป็นการชั่วคราว และก็เป็นอีกปัญหาที่จะต้องตรวจสอบและแก้ไขกันต่อไป
ประเด็นดังกล่าว เป็นข้อสังเกตที่ว่า ก่อนที่จะทำการก่อสร้าง ไม่ได้มีการตรวจสอบพื้นที่ หรือสอบถามข้างเคียงก่อนหรือไม่ แม้ว่า โครงการดังกล่าว แขวงทางหลวงเพชรบูรณ์ที่ 2 จะอ้างว่าเป็นการปรับปรุงเส้นทางเดิม ไม่มีการขยายพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องทำประชาพิจารณ์ แต่ก็น่าจะมีการตรวจสอบข้อมูลในเบื้องต้นเสียก่อน หรือสอบถามจากหน่วยงานในพื้นที่เพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมาอีกด้วย
ในวันที่เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า จุดดังกล่าวก็ยังคงปิดกั้นไม่ให้ประชาชนใช้งานและยังมีน้ำท่วมขังเต็มพื้นที่แม้ว่าจะเป็นเดือนมีนาคม ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งแล้วก็ตาม ซึ่งขัดกับข้อมูลเบื้องต้นที่ แขวงทางหลวงเพชรบูรณ์ที่ 2 แจ้งว่า จากการเก็บสถิติของแขวงทางหลวง ก่อนทำการก่อสร้างมีน้ำท่วมขังเพียง 1 เดือนต่อปี ในฤดูน้ำหลากเท่านั้น เท่าที่มองเห็นได้พบว่า ไม่มีร่องรอยการใช้งาน หรือแม้แต่การบำรุงรักษาพื้นที่เต็มไปด้วยต้นหญ้ารกเต็ม คล้ายว่าจะปล่อยให้ทิ้งร้างมากกว่า ที่จะพยายามแก้ปัญหาเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้งานได้ตามปกติ
นายวิวัฒน์ เจริญฉ่ำ ผช.ปปช. ภาค 6 กล่าวกับผู้สื่อข่าว ว่า เป็นการตรวจสอบโครงการที่ใช้งบประมาณจำนวนมากแต่ไม่สามารถใช้งานได้ ในส่วนของภาค 6 พบในหลายพื้นที่ ก่อนหน้าก็เป็นที่จังหวัดพิจิตร และจะติดตามในทุกพื้นที่และทุกจังหวัด สำหรับจุดนี้เป็นพื้นที่รับผิดชอบของ แขวงทางหลวงเพชรบูรณ์ที่ 2 ซึ่งใช้งบประมาณจำนวนกว่า 20 ล้าน แต่ไม่สามารถใช้งานได้เลย จึงได้ร่วมกับหลายฝ่าย เพื่อปรึกษาหารือและร่วมกันแก้ปัญหา และได้มอบหมายให้ ผอ.สำนักงาน ปปช. ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นผู้ติดตามความคืบหน้าและรายงานให้ทราบต่อไป
หากพบเห็นโครงการที่ถูกทิ้งร้าง หรือสร้างแล้วไม่สามารถใช้งานได้ สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ โทร. 056-725515 หรือ สำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 6
นายชาญวิทย์ จันทร์ทับ ผู้อำนวยการแขวงการทางเพชรบูรณ์ที่ 2 (บึงสามพัน) กล่าวว่า ในเบื้องต้นจะดำเนินการสูบน้ำออกจากพื้นที่ไปเก็บในคลองน้ำใกล้เคียง คาดว่าจะสามารถแก้ปัญหาในระยะสั้นได้ เพื่อให้จุดกลับรถดังกล่าวสามารถใช้งานได้ก่อน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้
นายวีระวัฒน์ วัฒนวงศ์พฤกษ์ นายอำเภอศรีเทพ กล่าวว่า การแก้ปัญหาดังกล่าวได้มีการดำเนินการมาเป็นระยะ เพียงแต่ว่าในภาพรวมยังไม่ปรากฎผล ในวันนี้นับว่าเป็นเรื่องดี ที่ทุกฝ่ายได้มารวมกันอีกครั้งเพื่อแก้ปัญหา ในระยะสั้น แขวงทางหลวงเพชรบูรณ์ สัญญาว่าจะแก้ไขให้ได้ภายใน 1 เดือน ส่วนในระยะยาวก็คงต้องวางแผนและประสานงานกันต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน