ชาวบ้านกว่า 400 คน จาก ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบฯ เดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจวบคีรีขันธ์ (กกต.) เพื่อยื่นหนังสือค้านการจัดแบ่งเขตเลือกตั้งในพื้นที่ปากน้ำปราณ
วันที่ 20 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพีรศักดิ์ จิวรรจนะโรดม นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลปากน้ำปราณ และผู้บริหารสมาชิกองค์กรปกครองท้องถิ่น ( อปท. ) พร้อมกลุ่มชาวบ้านกว่า 400 คนจาก ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบฯ เดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจวบคีรีขันธ์ (กกต.) บริเวณถนนมหาราช 2 เขตเทศบาลเมืองประจวบฯ เพื่อยื่นหนังสือค้านการจัดแบ่งเขตเลือกตั้งในพื้นที่ปากน้ำปราณ ให้นายศักดิ์ชัย เลิศกิตติวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด และขอให้ชี้แจงการแบ่งเขตเลือกตั้งพื้นที่ปากน้ำปราณ หลังมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เนื่องจาก ต.ปากน้ำปราณ เดิมอยู่ในเขตเลือกตั้งที่ 2 แต่ถูกเปลี่ยนเป็นเขตเลือกตั้งที่ 1 ทำให้ประชาชนไม่สบายใจเพราะขาดโอกาสเลือกคนที่รักและต้องลำบากในการเดินทางไปลงคะแนนเสียง โดยปัจจุบัน ต.ปากน้ำปราณ มีประชากรประมาณ 15,000 คน มีผู้สิทธิเลือกตั้งประมาณ 10,000 คน สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนมีนาคม 2562 คะแนนเลือกตั้งผู้สมัคร ส.ส.เขตพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ มีผลคะแนนไม่ห่างกันมาก

นายพีรศักดิ์ จิวรรจนะโรดม นายกเทศมนตรีเทศบาลกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเจตนาของชาวบ้านไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง หรือว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.รายใด และที่ผ่านมา ได้มีตัวแทนชาวบ้านและตัวแทนนักการเมืองท้องถิ่นไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพชรบุรีไว้แล้วเมื่อวันที่ 17 มี.ค.66 ในฐานะตัวแทน ต.ปากน้ำปราณ ได้ยื่นหนังสือ กกต.จังหวัดเพื่อค้านการแบ่งเขตเลือกตั้ง แม้ว่าจะไม่ประสบผลสำเร็จในครั้งนี้ แต่ขอสะท้อนให้ กกต.กลางรับทราบปัญหา เพื่อให้มีผลถึงการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งต่อไป เนื่องจากพื้นที่ ต.ปากน้ำปราณไม่คาบเกี่ยวกับพื้นที่เลือกตั้งเขต 1

ทั้งนี้หลังจากยื่นหนังสือและรับฟังการชี้แจงเหตุผลจาก ผอ. กกต.จังหวัด ซึ่งระบุว่ามีการแบ่งเขตตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดแล้ว โดยไม่สามารถดำเนินการแบ่งเป็นรูปแบบเดิมตามเขตอำเภอได้เหมือนการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปี 2562 เนื่องจาก อ.หัวหิน มีประชากรมากกว่า 1.2 แสนคน ดังนั้นในเขต 2 จึงต้องแบ่งเขตให้มีประชากรห่างกันไม่เกินร้อยละ 10 เช่นเดียวกับเขต 1 และเขต 3 ทำให้ทีมงานนักการเมืองท้องถิ่นและชาวบ้านเดินทางกลับด้วยความสงบ
