วันเสาร์, 27 เมษายน 2567

“การยาสูบ”บูรณาการปราบ”บุหรี่เถื่อน”เร่งปรับตัวรับการบริโภคบุหรี่ลดลง

การยาสูบแห่งประเทศไทย เดินหน้าบูรณาการหน่วยงานปราบบุหรี่เถื่อนพร้อมปรับตัวรับกระแสการบริโภคบุหรี่ลดลง

นายภูมิจิตต์ พงษ์พันธุ์งาม ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การยาสูบแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง โดยการยกฐานะ โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ขึ้นเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการยาสูบแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2561สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งการยาสูบแห่งประเทศไทย ภารกิจหลักก็คือ เป็นผู้ผลิตบุหรี่ของประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว อีกประการหนึ่งคือการส่งเสริมและสนับสนุนชาวไร่ยาสูบ โดยมีหน่วยงานที่จะสนับสนุนรับซื้อใบยาสูบโดยเฉพาะ

หลังจากมีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตในการจัดเก็บทั้งในปี 2560 และปี 2564 ทำให้มีผลกระทบ โดยเฉพาะการปรับตัวของคู่แข่งขันที่อยู่ในการค้าขายบุหรี่ในประเทศไทย ทำให้บุหรี่ต่างประเทศสามารถแข่งขันได้มากขึ้น ซึ่งทำให้รายได้ของการยาสูบแห่งประเทศไทย ลดน้อยลง โดยในปี 2560 การยาสูบแห่งประเทศไทย มีรายได้ส่งให้รัฐอยู่ที่ประมาณ 8,000-9,000 ล้านบาท แต่ผลกำไรในปี 2565 เหลือเพียง 100 ล้านบาท นอกจากนี้การที่รับซื้อใบยาสูบลดน้อยลงมากทำให้เกิดภาระต่อชาวไร่ และผลกระทบอีกประการหนึ่งก็คือ ในเรื่องของบุหรี่ผิดกฎหมาย เนื่องจากการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ทำให้บุหรี่มีราคาสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม การยาสูบแห่งประเทศไทย มีหน่วยงานคือ สำนักป้องกันบุหรี่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้ความรู้กับหน่วยงานราชการต่าง ๆ  เกี่ยวกับเรื่องของบุหรี่ปลอมปน บุหรี่ผิดกฎหมาย แสตมป์ยาสูบที่ปลอม ในเรื่องของการให้ความรู้เรื่องบุหรี่ผิดกฎหมายกับประชาชนจะทำได้ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากมีพรบ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ไม่สามารถที่จะโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือให้ความรู้เกี่ยวกับบุหรี่ผิดกฎหมายโดยตรงได้ ดังนั้นการยาสูบแห่งประเทศไทย จึงมุ่งให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไปปราบปราม ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานทหาร ตำรวจ หรือว่าหน่วยงานฝ่ายปกครอง นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมาย ซึ่งได้บูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสรรพสามิต ศุลกากร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ปปง. ในการดูแลเรื่องนี้อย่างเข้มแข็ง

ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับการปรับตัวของการยาสูบแห่งประเทศไทยนั้น ในขณะนี้นอกจากการผลิตบุหรี่ของประเทศไทยแล้ว เรายังมีการส่งออกใบยาสูบไปต่างประเทศ เพื่อให้อุตสาหกรรมนี้ยังคงทำรายได้ให้กับประเทศ และส่งเสริมพี่น้องเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูก ในอนาคตเราอาจจะมีเรื่องของการสกัดสารนิโคตินเพื่อการแพทย์จากใบยา หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อรับกับแนวโน้มการบริโภคบุหรี่ที่ลดลงในอนาคตอีกด้วย