เพชรบูรณ์ – สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 Kick Off เฝ้าระวังโรคไวรัสใบด่าง โรคใหม่ในถั่วเขียว ป้องกันการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในพื้นที่เพชรบูรณ์
วันที่ 8 ธันวาคม 2563 ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบูรณ์ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ดร.สมบัติ ตงเต๊า ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 เป็นประธานเปิดงาน Kick Off เฝ้าระวังโรคไวรัสใบด่างถั่วเขียว โรคในถั่วเขียวที่พบใหม่ในเขตภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง โดยมี นางอารีรัตน์ พระเพชร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบูรณ์ สารวัตรเกษตร จากจังหวัดในเขตพื้นที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 เข้าร่วม พร้อมลงพื้นที่ตรวจติดตาม สุ่มตัวอย่าง ให้ความรู้ ร้านค้า สถานที่รวบรวม ขายเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว
ดร.สมบัติ ตงเต๊า ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 กล่าวว่า โรคไวรัสใบด่างถั่วเขียวมีการตรวจพบตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ซึ่งจะมีอาการใบด่างเหลือง ไหม้แห้ง ออกดอกติดฝักน้อย ซึ่งเป็นครั้งแรกในเขตภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง โดยจากการสุ่มตรวจพบว่า เป็นเชื่อไวรัสที่ติดไปกับเมล็ดพันธุ์ เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในกลุ่ม Geminivlridae:Begomovirus และ Potyviridae:Potyvirus พบมากในกล้วยไม้ พริก และ มะเขือเทศ ซึ่งในถั่วเขียวยังไม่เคยมีรายงานมาก่อน การพบในครั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ให้เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรในเขตภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ลงพื้นที่สุ่มตัวอย่างถั่วเขียวมาวิเคราะห์ พบว่าจากการสุ่ม 100% มี 50% ที่ติดเชื้อไวรัส หากนำเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวไปปลูกใหม่ ก็จะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส หากไม่มีการป้องกันกำจัด ควบคุมหรือเตือนภัย ก็จะมีปัญหาในฤดูกาลผลิตถั่วเขียว กรมวิชาการเกษตรได้แจ้งเตือนเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเขียว ที่พบการระบาดในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี พิจิตร และสุโขทัย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง สำหรับในเขตเพชรบูรณ์ จะมีการผลิตถั่วเขียวในช่วงเดือนธันวาคม หากมีการระบาดของเชื้อไวรัสนี้ จะทำให้ผลผลิตลดลงมากกว่า 50 เปอร์เซนต์ ซึ่งการจัดงานคิกออฟ ครั้งนี้ ก็เพื่อเฝ้าระวังและเตือนภัยให้กับร้านค้า ที่รวบรวมผลผลิตถั่วเขียวจำหน่าย และเพื่อให้ความรู้โรคใบด่างในถั่วเขียว ไปสู่เกษตรกร เพื่อที่จะช่วยกันเฝ้าระวังไม่ให้ผลผลิตของถั่วเขียวมีปัญหา
ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 กล่าวต่อว่า เชื้อไวรัสใบด่างถั่วเขียวที่ติดไปกับเมล็ดพันธุ์ หากนำไปปลูกจะทำให้เกิดการกระจายของเชื้อไวรัส แต่สามารถนำไปบริโภคหรือนำไปแปรรูปในอุตสาหกรรมได้ปกติไม่เป็นอันตรายใดๆ ฝากถึงเกษตรกรที่ปลูกถั่วเขียว ให้เฝ้าระวัง อย่างน้อยการซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูกต้องสอบถามแหล่งผลิต หรือแหล่งรวบรวมจำหน่ายว่า มีปัญหา เรื่องนี้หรือไม่ และหากเป็นไปได้ ฤดูกาลผลิตนี้อาจจะต้องหยุดการผลิตไปก่อน