วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

กรมทรัพยากรธรณีแจง หินโปร่งแสงที่ชาวบ้านพบเป็นแร่ควอตซ์ชนิดหนึ่ง

เพชรบูรณ์ – กรมทรัพยากรธรณีออกหนังสือชี้แจง ก้อนหินประหลาดโปร่งแสง ที่ชาวบ้านที่ อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ ขุดพบเป็นแร่ควอตซ์ที่ใช้ทำแก้ว กระจก และขวดน้ำ แต่ถ้าควอตซ์ที่บริสุทธิ์ สามารถนำมาใช้ทำเส้นใยไฟเบอร์ออพติด และไมโครชิพสำหรับอุปกรณ์อิล็กทรอนิกส์ หรือนำมาถลุงเป็นธาตุซิลิคอนผลิตเป็นเซลล์แสงอาทิตย์ หรือแผงโซลาร์เซลล์

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ นางจิระประไพ กองสงคราม อายุ 52 ปี อยู่บ้านเลขที่ 107 หมู่ 9 บ้านโคกสะอาด ต.กันจุ อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ ได้จ้างรถแบ็คโฮมาขุดสระน้ำที่บริเวณหลังบ้าน และได้พบก้อนหินประหลาด มีลักษณะโปร่งแสง มีทั้งสีขาวเหมือนสารส้ม และสีแดง เป็นจำนวนมาก โดยก้อนหินดังกล่าว มีรูปร่างหลากหลายรูปแบบ บางก้อนมีลักษณะคล้ายผลึกโปร่งแสง มีพื้นผิวที่มีความมันวาว สะท้อนแสง ระยิบระยับ สวยงามมาก

นางจิระประไพ ยังบอกอีกว่า สระน้ำที่จ้างรถแบ็คโฮมาขุดดังกล่าว มีเนื้อที่ประมาณ 2 งาน ความลึกประมาณ 8 เมตร เพื่อเตรียมสร้างบ้าน พอขุดลงไปได้ประมาณ 2-3 เมตร ก็พบหินอยู่บริเวณก้นสระน้ำเต็มไปหมด มีทั้งหินก่อนเล็ก ก้อนใหญ่ เรียงรายอยู่เต็มไปหมด โดยหินก้อนที่มีขนาดใหญ่ๆ มีขนาดความกว้างประมาณ 5-6 นิ้ว ยาวประมาณ 7-8 นิ้ว

และในขณะที่รถแบ็คโฮขุด ได้มีเหตุการณ์ประหลาดมหัศจรรย์เกิดขึ้น เนื่องจากมีแสงไฟประหลาดพุ่งสะท้อนขึ้นมา จนคนขับรถแบ็คโฮ ต้องมาถามเจ้าของที่ดินว่า แถวนี้เจ้าที่แรงหรือไม่ เพราะมีแสงไฟปริศนาประหลาดพุ่งขึ้นมา และมีบางช่วงรถแบ็คโฮไม่สามารถขยับเขยื้อนที่ได้เลย คนขับรถแบ็คโฮ ก็เอาก้อนหินมาให้เจ้าของที่ดู เจ้าของที่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า คือ หินอะไร ส่วนตัวไม่เคยพบเห็นหรือเจอมาก่อน จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบ ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น

ล่าสุด กรมทรัพยากรธรณี ได้มีหนังสือชี้แจงว่า หินประหลาดโปร่งแสง ที่ชาวบ้านขุดพบ คือ แร่ควอตซ์ชนิดหนึ่ง ที่มีชิสิก้าเป็นองค์ประกอบ ตามธรรมชาติจะมีสีขาวโปร่งแสง และใสเหมือนกระจก หากเป็นผลึกจะเรียกว่า หินเขี้ยวหนุมาน โดยธรรมชาติแร่ควอตซ์จะมีหลายสี หากสีม่วง เรียก Amethyst สีเหลืองเรียก Citrine เป็นต้น คุณสมบัติของแร่ควอตซ์ มีความคงทนต่อการถูกทำลายสูง มีความแข็งเท่ากับ 7 (เพชรความแข็งเท่ากับ 10) ในธรรมชาติเมื่อแร่คอวตซ์ผุพัง ถูกกัดเซาะทำลาย จะแตกสลายเป็นเม็ดกรวด ทราย ปะปนอยู่ในดินทั่วไป รวมทั้งสันทรายหรือชายหาด

ส่วนประโยชน์ของแร่ควอตซ์ นำมาหลอมในอุตสาหกรรม แก้ว กระจก ขวดน้ำ แต่ส่วนใหญ่จะใช้ทรายแก้วที่ได้จากการผุพังและสะสมตัวของแควอตซ์ สำหรับควอตซ์ที่บริสุทธิ์ นำมาใช้ทำเส้นใยไฟเบอร์ออพติด และไมโครชิพสำหรับอุปกรณ์อิล็กทรอนิกส์ หรือนำมาถลุงได้ธาตุซิลิคอน (Si) ซึ่งนำธาตุโลหะชิลิคอนมาผลิตเซลล์แสงอาทิตย์

สำหรับประเด็นที่ว่า มีแสงพุ่งขึ้นมาตอนที่รถแบ็คโฮกำลังขุดดินนั้น น่าจะเกิดจากตัวตักของรถแบ็คโฮที่เป็นเหล็ก กระทบกับหินที่เป็นควอตซ์ที่แข็งกว่าจนทำให้เกิดประกายไฟแล็บ ลักษณะเช่นเดียวกับเวลาที่มีโลหะขูดกับถนน นั่นเอง

ด้าน ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบของกรมทรัพยากรธรณี พบว่า บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ตะกอนน้ำไหล จึงทำให้มีโอกาสพบหินแปลกๆตามที่ชาวบ้านเห็น หรือที่เรียกว่าแร่ควอตซ์ ซึ่งน่าจะเป็นชนิดคาลซิโดนี ถ้าแร่ควอตซ์ตกผลึกเป็นเหลี่ยมๆ เขาเรียกหินเขี้ยวหนุมาน แต่ถ้ามีสีก็จะเรียกชื่อต่างๆ เช่น สีม่วงก็จะเรียกอนีทีซ แต่ตรงนี้มันเป็นสีใส เพราะฉะนั้นก็เป็นแร่ควอตซ์ธรรมดาเท่านั้น ถามว่ามีประโยชน์อะไรไหม ถ้ามันมีความแข็งมีสีสันก็สามารถนำไปเจียระไนเป็นหัวแหวนได้ แบบแถวลพบุรีที่เรียกว่าโมกุล แต่ต้องมีมากพอสมควรและต้องมีสีมีลวดลาย ชาวบ้านถ้าจะใช้ประโยชน์กันจริงๆ ก็จะต้องไปเรียนการเจียระไน ซึ่งความแข็งอยู่ในระดับ 7 รองจากเพชรที่อยู่ในระดับ 10 การเจียระไนก็จะยาก สรุปว่าก็เป็นแร่ควอตซ์ชนิดหนึ่ง ก็ไม่น่าตื่นเต้นอะไร แถบนี้ถ้าขุดไปก็น่าจะเจออีก ถ้าเอาไปขายทั่วไปก็ไม่น่าจะมีราคา นอกจากว่าชาวบ้านจะเอามาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน มาเจียระไนเป็นหัวแหวน ก็ต้องมีเครื่องมือมีการลงทุน และต้องมีลวดลายมีสีสัน รวมทั้งไม่ใช่ อัญมณี ที่คนนิยมใช้ทั่วไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เพชรบูรณ์ – พายุฤดูร้อน ถล่ม ตำบลลาดแค ได้รับความเสียหาย12 หมู่บ้าน 90 หลังคาเรือน
เตรียมความพร้อมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2566
เพชรบูรณ์  สมศักดิ์ นำทีมเพื่อไทย ปราศรัยหาเสียง ย้ำ “คิดใหญ่ ทำเป็น” เน้นแก้ปัญหายาเสพติด
เพชรบูรณ์ – อำเภอหนองไผ่ จัดงาน “วันมะม่วงและของดีอำเภอหนองไผ่ ประจำปี 2566”
เพชรบูรณ์ – พิธีเซ่นไหว้บรรพชน เทศกาลเช็งเม้งรวม ของสุสาน พฤกษาราชคีรี อำเภอหนองไผ่   
เพชรบูรณ์ – เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.หล่มสัก สาธิตการใช้เหล็กไม้ง่ามเพื่อควบคุมบุคคลจิตเวช ให้กับผู้นำชุมชน